นิยามของโรค
ต้อกระจก เป็นโรคที่มีอาการตามัว เนื่องจากเลนส์แก้วตาเกิดความขุ่นมัว ซึ่งมาจากการเสื่อมสภาพของเลนส์แก้วตา เป็นผลให้เกิดการบดบังแสงสว่างที่จะส่งผ่านมายังประสาทตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ไม่ชัดเจน
สาเหตุของต้อกระจก
โรคต้อกระจก มักจะเกิดจากอาการเสื่อมสภาพตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น พบในผู้ใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไป เรียกว่า ต้อกระจกในผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการเป็นโรคต้อกระจกมากถึง 80 % นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่มีเกี่ยวข้องกับเรื่องวัย อาจเกิดจากพันธุกรรม การติดเชื้อไวรัส ความผิดปกติในขณะตั้งครรภ์ หรืออุบัติเหตุ ซึ่งมีความเป็นไปได้เพียง 20 %
ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดต้อกระจกก่อนวัย
1. เป็นโรคต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจเกิดจากมารดาเป็นหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก หรือในวัยเด็กมีภาวะขาดอาหาร
2. เกิดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา เนื่องจากการเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยงในการได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา เช่น กีฬาเทนนิส แบดมินตัน หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น การเชื่อมโลหะ
3. โรคประจำตัวในวัยกลางคน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์ผิดปกติ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคขาดสารอาหาร ซึ่งมักจะมีอาการตาเสื่อมสภาพก่อนวัย
4. เกิดจากความผิดปกติของตา เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ เป็นต้น
5. เกิดจากการใช้ยา เช่น ยาลดน้ำหนัก การใช้ยาทานหรือหยอดตาที่เป็นสเตียรอยด์หรือใช้ยา Prednisoloneเป็นเวลานาน
6. เกิดจากบริเวณดวงตาถูกรังสีเป็นเวลานาน พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง
7. เกิดจาการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
อาการของโรค
อาการของโรคต้อกระจก จะไม่แสดงอาการปวดตาหรือตาแดงให้เป็นที่สังเกตได้อย่างชัดเจน แต่ผู้ป่วยจะค่อยๆรู้สึกถึงความผิดปกติบริเวณดวงตา การมองเห็นเริ่มไม่ชัดเจน มีความพร่ามัว เห็นเป็นภาพซ้อน เมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงมาก รูม่านตาจะหดแคบลง ทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ไม่ชัดเจน และจะมองเห็นได้ดีเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีแสงสว่างน้อย เนื่องจากเมื่อมีแสงน้อยรูม่านตาจะขยายออก ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน
เห็นแสงไฟจากหน้ารถเป็นแสงกระจายฟุ้งๆ
สำหรับผู้ป่วยโรคต้อกระจกบางรายจะสังเกตเห็นว่าการเห็นของตนเองมีความผิดปกติไปจากเดิม เมื่อมองแสงจากหลอดไฟจะเห็นแสงกระจายอยู่รอบ ๆ บางครั้งมองเห็นแสงเป็นสีเหลือง หรือมองเห็นภาพแสงซ้อนกัน ไม่ว่าจะมองด้วยตาข้างเดียวหรือสองข้างก็ตาม จะปรากฏภาพเช่นเดิม เป็นเพราะแก้วตาเปลี่ยนแปลงการหักเหของแสงไม่เท่ากัน เนื่องจากแก้วตามีความขุ่นมัว
มีจุดอยู่ตรงกลางภาพ
เห็นภาพเป็นสีเหลืองมากกว่าปกติ
เปรียบเทียบลักษณะของตาคนปกติกับที่เป็นโรค- มีรูปประกอบ
สำหรับคนที่เป็นโรคต้อกระจก เมื่อมองเห็นแสง
จะเกิดจากการหักเหแสง ทำให้แสงที่ผ่านเลนส์ตาที่ขุ่นมัวฟุ้งกระจาย
สามารถสังเกตเห็นเลนส์ตาของผู้ที่เป็นโรคต้อกระจกเป็นเวลานาน ที่มีความขุ่นมัวได้อย่างชัดเจนบริเวณกลางกระจกตา
ภาพจะมัวกว่าคนปกติ
การวินิจฉัยต้อกระจก
เมื่อตรวจดูตาจะพบว่าแก้วตามีลักษณะขุ่นขาว เมื่อใช้ไฟส่องผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตาพร่า เมื่อใช้เครื่องส่องตา (Ophthalmoscope) ตรวจดูจะไม่พบปฏิกิริยาสะท้อนสีแดง (Red reflex)
•อาการตามัวยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ นอกจากต้อกระจก ซึ่งแพทย์จะซักถามอาการและตรวจดูให้แน่ชัดว่าไม่ใช่เกิดจากภาวะร้ายแรงอย่างเช่น ต้อหิน
•ต้อกระจกที่พบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยหรือในช่วงวัยกลางคน อาจมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานหรือโรคอื่น ๆ ได้ ถ้าพบอาการดังกล่าว แนะนำว่าผู้ป่วยควรไปตรวจที่โรงพยาบาล
ภาวะแทรกซ้อนของต้อกระจก
- ดวงตาจะบอดสนิทเมื่อต้อที่อยู่บริเวณดวงตาสุกและไม่ได้รับการผ่าตัด
- โรคต้อกระจกอาจทำให้เกิดโรคต้อหิน
- ผู้ที่ป่วยด้วยโรคต้อกระจกจะมีอาการปวดบริเวณดวงตาอย่างรุนแรง
วิธีป้องกันต้อกระจก
โรคต้อกระจกเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามการเสื่อมสภาพของดวงตาตามวัย ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ 100 % แต่สามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคต้อกระจกก่อนวัยอันควรได้ ซึ่งมีวิธีการหลีกเลี่ยง ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาทานหรือยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เป็นเวลานาน และยาลดน้ำหนัก
2. ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุบริเวณดวงตา
3. เมื่ออยู่บริเวณที่มีแสงแดดจัด ควรสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอแลต
4. เมื่อต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน ควรพักสายตาเป็นระยะๆ
5. งดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
6. พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
7. ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
8. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะดวงตาเป็นประจำทุกปี
การวินิจฉัยต้อกระจก
การตรวจดวงตา เพื่อตรวจสอบการเป็นโรคต้อกระจก สามารถทำได้ด้วยการใช้ไฟส่องเข้าไปในดวงตา โดยใช้เครื่อง Ophthalmoscope ตรวจดูหากพบปฏิกิริยา Red reflex หมายถึงกระจกตาเป็นปกติ หากไม่พบปฏิกิริยา Red reflex หมายถึงกระจกตามีความผิดปกติ ดังรูป
อาการตามัวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นโรคกระจกตา แต่อาจเกิดขึ้นจากการเป็นโรคต้อหิน
ปัจจุบันโรคกระจกตาสามารถพบได้ในเด็กและวัยกลางคน ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน ดังนั้นควรได้รับการตรวจ เพื่อหาสาเหตุโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วิธีรักษาต้อกระจก
สำหรับวิธีการรักษาโรคต้อกระจกสามารถทำได้เพียงวิธีเดียว คือ วิธีการเข้ารับการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคต้อกระจกได้ เนื่องจากยังไม่สามารถพิสูจน์ประสิทธิภาพของยาเหล่านั้นว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคต้อกระจกได้จริง
สำหรับวิธีการรักษาโรคต้อกระจกสามารถทำได้เพียงวิธีเดียว คือ วิธีการเข้ารับการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคต้อกระจกได้ เนื่องจากยังไม่สามารถพิสูจน์ประสิทธิภาพของยาเหล่านั้นว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคต้อกระจกได้จริง
1. การผ่าตัดโรคต้อกระจก
การผ่าตัดโรคต้อกระจก ส่วนใหญ่แพทย์จะทำการผ่าตัดให้กับผู้ป่วยที่กระจกตาขุ่นมัวจนไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆได้ไม่อย่างชัดเจน ส่งผลต่อให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต ผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อกระจกขุ่นมากจนทำให้ไม่สามารถตรวจจอประสาท และผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนผู้ป่วยที่เป็นทารกแพทย์จะทำการผ่าตัดกระจกตาให้ เมื่อมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกเกิดภาวะประสาทตาเสื่อมแทรกซ้อนขึ้น
2. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้
การผ่าตัดโรคต้อกระจก ถือเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ยกเว้นสำหรับผู้ป่วยที่มีความเป็นปกติของตาดำ ที่รูม่านตาขยายไม่เต็มที่ ทำให้แพทย์ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ และผู้ป่วยที่มีเนื้อเยื่อตาผิดปกติ อาจเกิดจากการประสบอุบัติเหตุ ซึ่งถ้ารักษาโดยการผ่าตัด จะส่งผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ง่าย หรืออาจจะร้ายแรงจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น
3. ก่อนการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
ก่อนเข้ารับการผ่าตัดแพทย์จะต้องทำการหาความผิดปกติของตาอย่างละเอียด ร่วมทั้งตรวจร่างกาย วัดความดัน และตรวจหาโรคที่เป็นอุปสรรคในการผ่าตัด เช่น ตากุ้งยิง เบาหวาน ถุงน้ำตาอักเสบ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความแน่ใจก่อนการผ่าตัด หากประสาทตายังคงมีความปกติ ภายหลังการรักษาจะส่งผลให้ผู้ป่วยมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น แต่หากประสาทตาไม่ปกติหรือประสาทตาเสีย ภายหลังการผ่าตัดจะไม่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีการมองเห็นที่ดีอาจมีผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดได้
4. วิธีการผ่าตัดโรคต้อกระจกแบบมาตรฐาน
จักษุแพทย์นิยมทำการผ่าตัดโดยการสลายต้อให้มีขนาดเล็กลงด้วยคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (Phacoemulsification) แล้วทำการดูดต้อออก หลังจากดูดต้อออกเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะใส่เลนส์เทียมทดแทนเลนส์เดิม
การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ เป็นวิธีที่ไม่ต้องรอให้ต้อสุก แต่สามารถทำการผ่าตัดได้ทันทีเมื่อพบความผิดปกติ และการรักษาด้วยวิธีนี้ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย มีแผลขนาดเล็ก จึงไม่ต้องเย็บแผล และไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล หลังจากผ่าตัดได้ประมาณ 1 -2 เดือน จะต้องเข้าตรวจอีกครั้ง เพื่อวัดสายตาตัดแว่นให้สามารถมองเห็นได้ในระยะใกล้ได้อย่างชัดเจน
5. วิธีการผ่าตัดโรคต้อกระจกแบบใหม่ล่าสุด
ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีแบบใหม่ที่มีความทันสมัย โดยการผ่าตัดต้อกระจกและฝังเลนส์เทียมโดยใช้เลเซอร์ เข้ามาช่วยในการผ่าตัด ซึ่งมีความแม่นยำในการผ่าตัด สามารถเปิดแผลและตัดแบ่งเลนส์ต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กได้ หลังจากนั้นใช้เครื่องมือมาตรฐานในการสลายต้อ วิธีการผ่าตัดแบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วติดการติดเชื้อ และการผ่าตัดด้วยวิธีแบบใหม่ยังมีความเหมาะสมกับผู้ที่ให้เลนส์แก้วตาเทียม
ผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อกระจกส่วนใหญ่มักจะเลือกวิธีการรักษากับหมอพื้นบ้าน โดยใช้วิธีการรักษาง่ายๆ แต่มีความเสี่ยงสูง เช่น การเดาะแก้วตา หรือใช้เข็มดันแก้วตา ทำให้แสงสามารถลอดผ่านและมองเห็นได้ทันที การรักษาแบบนี้มีค่าใช้จ่ายไม่มาก แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนหรือสูญเสียการมองเห็นได้
การปฏิบัติตนหลังการผ่าตัด
1. ในช่วงเย็นหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องนอนพักฟื้นอย่างเต็มที่ เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่จำเป็น เช่น การเข้าห้องน้ำ
2. หลังจากการผ่าตัดได้ 1 วัน ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายที่ต้องใช้แรง เช่น การออกกำลังกาย การยกของ เป็นต้น ส่วนการเคลื่อนไหวที่ใช้แรงน้อย เช่น การดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ ผู้ป่วยสามารถทำได้ตามปกติ
3. ผู้ป่วยต้องรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง และในกรณีที่ต้องรับประทานยาประจำตัวสามารถทำได้ตามปกติ
4. ผู้ป่วยต้องระมัดระวังการติดเชื้อหลังจากการผ่าตัด และไม่ควรให้น้ำเข้าตา เนื่องจากแผลผ่าตัดเป็นช่องทางที่เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย เมื่อต้องทำความสะอาดบริเวณใบหน้าให้เว้นบริเวณดวงตา ประมาณ 4 สัปดาห์
5. ผู้ป่วยต้องระมัดระวังการขยี้ตาข้างที่ทำการผ่าตัด สามารถป้องกันด้วยการใช้พลาสติกครอบตาขณะนอนหลับ และสวมใส่แว่นกันแดดในเวลากลางวัน
6. ผู้ป่วยควรสวมใส่แว่นกันแดดเมื่อต้องอยู่กลางแจ้งหรือสถานที่ที่มีแดดจัด
7. ผู้ป่วยต้องพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากพบความผิดปกติ เช่น ตาบวม มีขี้ตาสีเหลือง ตาพร่ามัวลง คลื่นไส้ ฯลฯ ควรพบแพทย์ทันที
ผลจากการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
การผ่าตัดต้อกระจก เป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนเหมือนคนปกติ เนื่องจากมีการฝังเลนส์แก้วตาเทียม ดวงตาที่เคยได้รับการผ่าตัดจะไม่เป็นโรคต้อกระจกซ้ำ วิธีนี้ผู้ป่วยสามารถปรับสภาพดวงตาหลังการผ่าตัดได้รวดเร็ว หากหลังการผ่าตัดแล้วยังมีอาการตาพร่ามัว อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม และถุงหุ้มเลนส์ขุ่น เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ต้อกระจก (Cataract)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 950-952.
2.หาหมอดอทคอม. “ต้อกระจก (Cataract)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [01 เม.ย. 2016].
3.คณะกรรมการฐานข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “โรคต้อกระจก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [02 เม.ย. 2016].
ภาพประกอบ : www.striveforgoodhealth.com, www.firmoo.com, newsnetwork.mayoclinic.org, eyecareneworleans.com, www.floridaeyeclinic.com, www.neovisioneyecenters.com, www.parkhillsurgerycenter.com, www.williamsoneyeinstitute.com, www.rsb.org.au
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น