วุ้นตาเสื่อม

            

            นิยามของโรค
โรควุ้นตาเสื่อม หรือที่เรียกว่า วุ้นในตาเสื่อมน้ำวุ้นตาเสื่อมน้ำวุ้นลูกตาเสื่อม หรือ น้ำวุ้นลูกตาตกตะกอน (ภาษาอังกฤษ : Vitreous floaters, Eye floaters หรือ Floaters) เป็นภาวะที่พบมากในผู้ที่อยู่ในช่วงวัยกลางคน มีอาการมองเห็นเป็นจุดเล็ก ๆ หรือมีลักษณะเป็นเส้น ๆ วง ๆ ลอยไปลอยมาในลูกตา หรืออาจมองเห็นเป็นเงาดำคล้ายยุง ลูกน้ำ หยากไย่ ในลูกตาข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง เมื่ออยู่ในที่สว่างจะเห็นได้ชัดเจน เช่น เมื่อแหงนมองท้องฟ้า หรือมองไปที่ผนังสีขาว ผู้ป่วยจะรู้สึกรำคาญเนื่องจากการเห็นภาพคล้ายหยากไย่ลอยอยู่ไป-มา แต่หากปล่อยนานไปก็จะรู้สึกชินกับการรับภาพดังกล่าว
หน้าที่ของวุ้นลูกตา คือ เป็นตัวกลางให้แสงผ่าน และยังช่วยพยุงลูกตาให้สามารถคงรูปเป็นทรงกลม นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาหารให้แก่แก้วตา จอประสาทตา และเนื้อเยื่อซีเลียรีบอดี้ (Ciliary body) จากสถิติพบว่า วุ้นลูกตาจะคลายความหนืดลงเมื่ออายุมากขึ้น ในผู้ที่มีอายุ 80 ปี จะมีลักษณะของวุ้นลูกตาที่กลายสภาพเป็นน้าใสประมาณครึ่งหนึ่งของวุ้นตาทั้งหมด ในผู้ป่วยรายที่มีสายตาสั้น พบว่า วุ้นลูกตาจะเสื่อมเร็วกว่าคนสายตาปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะจอประสาทตาหลุดลอกได้ เนื่องจากวุ้นลูกตาที่เสื่อมจะไม่สามารถยึดติดกับจอประสาทตาได้

      

         อาการของโรค
            เมื่อเรากลอกตาไปมาจะมองเห็นเป็นจุดเล็ก ๆ เส้น ๆ หรือเป็นเงาดำคล้ายหยากไย่ ยุง ลูกน้ำ หรือแมลง หรืออาจมองเห็นเป็นวง ๆ ลอยไปลอยมาตามการกลอกตา ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจเกิดขึ้นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง อาจเห็นเพียงจุดเดียวหรือหลายจุดก็ได้ อาการดังกล่าวไม่เป็นอันตรายกับลูกตา และไม่ทำให้สายตามัวลง แต่ผู้ป่วยด้วยโรคนี้จะเกิดความรำคาญในการมองเห็น หากเมื่อนานไปผู้ป่วยก็จะรู้สึกชินกับภาวะดังกล่าวได้
                โดยทั่วไปอาการดังกล่าวจะไม่ปรากฏชัดเจนตลอดเวลา แต่ผู้ป่วยสามารถสังเกตได้เมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงสว่าง เช่น เมื่อมองที่กระดาษสีขาว มองที่ผนังสีขาว หรือเมื่อแหงนมองไปบนท้องฟ้า หรือเมื่อกลอกตาไปทางซ้ายและขวา เป็นต้น อาการของวุ้นตาเสื่อมจะเกิดการหดตัวและส่งผลต่อการดึงรั้งจอประสาทตา ทำให้เกิดการมองเห็นแสงแฟลชถ่ายรูปหรือแสงวาบคล้ายฟ้าแลบในลูกตาได้เมื่ออยู่ในที่มืด อาการดึงรั้งจอประสาทตานี้อาจทำให้เกิดจอประสาทตาฉีกขาด  (Retinal tear) หรือเกิดภาวะจอประสาทตาหลุดลอก (Retinal detachment) ทำให้สูญเสียการมองเห็น หรือที่เรียกว่า ตาบอดได้

            

          ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดวุ้นในตาเสื่อม
                   1.เมื่อมีอายุมากขึ้น พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
                   2.ผู้ที่มีสายตาสั้นมากกว่า 600
                   3.ผู้ที่มีอาการอักเสบในลูกตา หรือได้รับอุบัติเหตุทางดวงตาหรือบริเวณศีรษะ หรืออาจเคยผ่าตัดตามาก่อน เช่น การผ่าตัดต้อกระจก เป็นต้น
                   4.ผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานขึ้นตา

                   5.ผู้ป่วยที่เป็นโรคตาบางชนิดที่ส่งผลให้วุ้นตาเสื่อม เช่น Jansen disease, Wagner disease, Stickler syndrome เป็นต้น 

              เปรียบเทียบลักษณะของตาคนปกติกับที่เป็นโรค

เทียบกับตาของคนปกติ ผู้ป่วนวุ้นในตาเสื่อมมี floaters ลอยอยู่ในตา
เมื่อแสงเข้ามาในตาแสงจะหักเหทำให้เกิดเงาขึ้นบนขอประสาทตา 
ผู้ป่วยจะเห็นภาพเหมือนหยากไย่ลอยอยู่ทำให้รู้สึกรำคาญ

            การป้องกันวุ้นตาเสื่อม
                   โดยทั่วไปหากวุ้นตาเสื่อมตามธรรมชาติจะไม่มีวิธีการป้องกันได้ แต่หากเกิดจากภาวะอื่นที่ส่งผลให้เกิดโรควุ้นตาเสื่อมก็จะสามารถป้องกันได้ตามลักษณะการเกิดจากสาเหตุนั้นๆ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น ข้อแนะนำที่พึงปฏิบัติเพื่อป้องกันโรควุ้นตาเสื่อมมี ดังนี้
                         1.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเลือกออกกำลังให้เหมาะสมกับสุขภาพ ร่างกายของตน
                         2.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
                         3.ควรงดสูบบุหรี่
                         4.พยายามหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่จะส่งผลกระทบต่อดวงตา
                         5.มีการแนะนำให้ใช้วิตามินหรืออาหารเสริม แต่ก็ยังไม่มีการรับรองผลที่แน่นอน
                         6.ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมดูแลโรคดังกล่าวเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรควุ้นตาเสื่อม


            แนวทางการแก้ไข 
               ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เมื่อมีอาการวุ้นลูกตาเสื่อ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค และทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
                       1. ในผู้ป่วยรายที่มีอาการมองเห็นเงาดำลอยไป-มา แต่ไม่มีการฉีกขาดของจอประสาทตา ควรไปปรึกษาแพทย์เป็นระยะ ๆ สม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงอาการของโรค แต่ไม่ต้องทำการรักษาแต่อย่างใด เนื่องจากร่างกายจะชินกับสภาพการมองเห็นในลักษณะดังกล่าวได้เอง หากพบว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
                           - เห็นเงาดำจุดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
                           - มองเห็นแสงแฟลชถ่ายรูปหรือแสงวาบคล้ายแสงฟ้าแลบในตา
                           - มองเห็นเงาคล้ายมีม่านบังตาบางส่วนเป็นแถบ ๆ
                           - การมองเห็นมัวลง
                  2. ในผู้ป่วยที่มีอาการจอประสาทตาฉีกขาด ต้องรักษาด้วยแสงยิงเลเซอร์หรือจี้ความเย็นเพื่อป้องกันไม่ให้จอประสาทตาฉีกขาดเพิ่มและอุดรูหรือรอยฉีกขาดนั้น เพื่อไม่ให้น้ำวุ้นไหลเซาะไปตามรูที่ขาด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดจอประสาทตาหลุดลอกตามมา และอาจทำให้ตาบอดได้       
แสดงการรักษาด้วยวิธียิงเลเซอร์ ( ภาพบน )
และวิธีจี้ด้วยความเย็น ( Cryotherapy ) ( ภาพล่าง )

                    3. ในผู้ป่วยรายที่จอประสาทตาหลุดลอก จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข เพื่อให้จอประสาทตากลับไปยึดติดดังเดิม การรักษาทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดได้

                     4. การควบคุมหรือรักษาโรคอื่น ๆ ที่จะส่งผลให้เกิดโรควุ้นตาเสื่อม เช่น ในผู้ป่วยรายที่เป็นโรคเบาหวานขึ้นตาควรควบคุมโรคเบาหวานร่วมกับการใช้แสงเลเซอร์เพื่อรักษาโรคจอประสาทตา หรือถ้าหากเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมที่เกิดจากเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นในจอประสาทตา (Neovascu larization) ต้องใช้ยาหรือเลเซอร์เพื่อขจัดหลอดเลือดที่ผิดปกติออกไป 
      










เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  อาการเห็นเงาหยากไย่ (floaters)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 957.
2.ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration)”.  (อ.พญ.โสมนัส ถุงสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [23 ก.ค. 2017].
3.ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  น้ำวุ้นตาเสื่อมตะกอนในวุ้นตาแสงแว่บในตาจอประสาทตาฉีกขาดจอประสาทตาหลุดลอก”.  (นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th.  [25 ก.ค. 2017].
4.หาหมอดอทคอม.  วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Floater)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [27 ก.ค. 2017].















0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น