โรคจอประสาทตาลอก



            นิยามของโรค
            จอประสาทตาลอกจอตาลอก หรือ จอตาหลุดลอก (Retinal detachment) คือ ภาวะของจอประสาทตาที่มีอาการลอกหรือแยกออกจากตำแหน่งเดิม ผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นแสงแฟลชคล้ายแฟลชถ่ายรูป หรือเห็นแสงสว่างวาบคล้ายฟ้าแลบ และมีอาการมองเห็นคล้ายเงาหยากไย่ที่มีลักษณะเป็นจุดดำหรือเป็นเส้นดำๆ และมีลักษณะอาการตามัวร่วมด้วย มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป 
            สาเหตุของจอประสาทตาลอก
                1. จอประสาทตาลอกที่พบบ่อยที่สุดมีสาเหตุมาจากการเกิดรูหรือรอยฉีกขาดที่จอประสาทตา (Rhegmatogenous retinal detachment – RRD) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากตาได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ทำให้มีของเหลวของน้ำวุ้นลูกตาแทรกซึมเข้าไปเซาะให้จอตาลอก จะพบผู้ป่วยที่มีอาการจอประสาทตาลอกในผู้ที่มีสายตาสั้น หรืออาจเกิดจากการที่จอประสาทตาลอกที่เกิดรูขาดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ
                2. จอประสาทตาลอกที่เกิดจากการดึงรั้ง (Tractional retinal detachment – TRD)        เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย เกิดจากน้ำวุ้นลูกตาดึงรั้งจอประสาทตาในส่วนที่ยึดติดอยู่ใกล้กัน ซึ่งพบในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานขึ้นตาในระยะสุดท้าย โดยจอรับภาพจะมีลักษณะเส้นเลือดงอกผิดปกติและในน้ำวุ้นลูกตามีเลือดออก ซึ่งพบในผู้ป่วยที่เคยได้รับอุบัติเหตุรุนแรงทางตาทำให้ตาทะลุหรือลูกตาแตก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอักเสบบริเวณน้ำวุ้นลูกตาหรือ       จอประสาทตาซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดชั้นพังผืด
                3. จอประสาทตาลอกที่ไม่มีรูขาดที่จอประสาทตา (Exudative retinal detachment -ERD) พบในกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือเกิดจากการอักเสบ ทำให้มีน้ำรั่วซึมหรือมีของเหลวขังสะสมอยู่ใต้ชั้นของจอประสาทตา ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมาก หรือผู้ป่วยที่มีอาการไตวาย หรือผู้ที่ป่วยด้ยโรคคอรอยด์อักเสบ เป็นต้น
           

              อาการของโรค

               อาการตามัว เกิดจากการที่จอประสาทตาลอกจนถึงบริเวณกลางจอตาตรงจุดรับภาพ จะพบว่าจอประสาทตามีรอยฉีกขาด และมีน้ำหรือของเหลวสะสมอยู่ในชั้นใต้จอประสาทตา ดังรูปข้างล่าง





ภาพแสดงจอประสาทตาที่หลุดลอกเห็นเป็นชั้นจอตาที่เป็นรอยย่น
     
                 - ผู้ป่วยมีอาการมองเห็นผิดปกติ โดยไม่ปรากฏอาการตาแดง เจ็บตา หรือตาแฉะ
                 - ผู้ป่วยจะมองเห็นเป็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูปที่ตาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างในขณะที่ผู้ป่วยหลับตาหรืออยู่ในที่มืด  อาการนี้มักจะเกิดในระยะแรก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่จอประสาทตาถูกดึงรั้งจากน้ำวุ้นลูกตาที่ไหลเข้าไปในจอประสาทตาบริเวณที่มีรูฉีกขาด   
                 - มีอาการเห็นเส้นดำๆ คล้ายเงาหยากไย่ หรือเห็นจุดดำ หรือเห็นลักษณะคล้ายแมลงวันลอยไป-มาอยู่ในลูกตา(Eye floaters) ผู้ป่วยจะมีอาการดังกล่าวชัดเจนเมื่ออยู่ในลักษณะแหงนมองท้องฟ้าหรืออยู่ในที่สว่าง หรือเมื่อมองไปที่ผนังสีขาว หรือก้มลง อาการเหล่านี้จะสร้างความรำคาญแก่ผู้ป่วย แต่เมื่อนานไปผู้ป่วยจะเกิดความเคยชิน
                 - อาการตามัวมองเห็นคล้ายมีหมอกบัง หรือมีเงาคล้ายม่าน หรือเห็นภาพคดงอ เป็นคลื่น
                 - หากปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นเงาที่ขอบลานของสายตา และจะขยายใหญ่ขึ้นจนเต็มลานสายตาภายในเวลารวดเร็ว


จากภาพด้านบน อาการของจอประสาทตาลอกที่พบคือมีหยากไย่ลอยไปมา
 มีจุดดำใหญ่บ้างเล็กบ้างลอยอยู่ หรือภาพบางส่วนดูบิดเบี้ยวไปจากปกติ

            ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดจอตาหลุดลอก
                   1. อายุ พบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้จอประสาทตาลอกเกิดจากน้ำวุ้นลูกตาเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้นจึงมีการหดตัวและลอกออกจากจอตา (Posterior vitreous detachment – PVD) ส่งผลให้เกิดการดึงรั้งจอประสาทตา จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ส่วนใหญ่จะมีอายุมากกว่า 70 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี มีจำนวนไม่มากที่ป่วยด้วยโรคจอประสาทตาลอก
                   2. สายตาสั้นมาก ผู้ที่มีสายตาสั้นมากจะมีอาการเสื่อมของน้ำวุ้นลูกตาเร็วกว่าคนสายตาปกติ นอกจากนี้ยังมีอาการจอประสาทตายืดจึงทำให้มีลักษณะบางกว่าคนสายตาปกติ ซึ่งอาการที่ยืดออกไปนี้จะมีการฉีกขาดได้ง่าย
                  3. เคยมีประวัติของการป่วยด้วยโรคจอประสาทตาลอกมาแล้วที่ตาข้างหนึ่ง
                  4. พันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติการป่วยด้วยอาการจอประสาทตาลอก
                  5. เกิดการอักเสบ ติดเชื้อในลูกตา
                  6. เกิดการแพร่กระจายของมะเร็งหรือเนื้องอกในลูกตา
                  7. เป็นโรคเบาหวานและมีโรคจอประสาทตาแทรกซ้อน
                  8. เกิดอุบัติเหตุที่ตาหรือได้รับบาดเจ็บที่ตาอย่างรุนแรง
                  9. เคยได้รับการผ่าตัดภายในลูกตามาแล้ว เช่น การผ่าตัดต้อกระจก
                 10. เป็นโรคตาบางชนิด เช่น โรคยูเวียอักเสบ (Uveitis), Lattice degeneration, Retinoschisis (โรคจอประสาทตาหลุดลอกชนิดหนึ่ง)

           ภาวะแทรกซ้อนของจอประสาทตาลอก
                  ผู้ที่มีภาวะจอประสาทตาลอก จำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาการอาจลุกลามเข้าไปในบริเวณจอประสาทตาส่วนที่เรียกว่า Macula ซึ่งจะทำให้ตาบอดได้

          เปรียบเทียบลักษณะของตาคนปกติกับที่เป็นโรคมีรูปประกอบ

มีหยากไย่และจุดดำๆลอยอยู่ผิดไปจากปกติ

จากภาพด้านบน บางส่วนของภาพดูบิดเบี้ยวไปจากปกติ
         
          การวินิจฉัยจอประสาทตาลอก
               โรคนี้สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยไปพบแพทย์เพื่อตรวจสายตา ลานตา ตรวจวัดความดันลูกตา การตรวจจะต้องใช้เครื่องมือที่มีกำลังขยายสูงและมีแสงสว่างมากส่องตรวจไปที่จอประสาทตา (Ophthalmoscope) จึงจะสามารถตรวจหาตำแหน่งของจอประสาทตาที่ฉีกขาดหรือมีลักษณะบางผิดปกติ และในบางกรณีอาจตรวจด้วยการทำอัลตราซาวนด์ (Ultrasound)
   


 ภาพแสดงจอประสาทตาที่หลุดลอกเห็นเป็นชั้นจอตาที่เป็นรอยย่น

            แนวทางการแก้ไข 
               1. ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยหากพบว่ามีอาการมองเห็นแสงแฟลชหรือแสงสว่างวาบคล้ายฟ้าแลบในตา 
               2. ผู้ป่วยที่มีอาการจอประสาทตาฉีกขาดหรือเป็นรู แพทย์จะรักษาด้วยการยิงแสงเลเซอร์ (Laser photocoagulation) รอบบริเวณที่ฉีกขาดเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่านจนเกิดอาการจอประสาทตาลอก หรือใช้ความเย็นจี้บริเวณรอบ ๆ รูที่ฉีกขาดของจอประสาทตา ซึ่งสามารถยึดจอประสาทตาให้กลับเข้าที่ และในผู้ป่วยบางรายที่มีการฉีกขาดของจอประสาทตาไม่กว้าง แพทย์อาจรักษาด้วยแสงเลเซอร์ โดยยิงแสงเลเซอร์ไปที่จอประสาทตาเพื่อป้องกันไม่ให้รอยฉีกขาดนั้นลอกหรือขยายวงกว้างขึ้น


              3. ในผู้ป่วยรายที่ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขภาวะจอประสาทตาลอก เพื่อปิดรูที่ฉีกขาดของจอประสาทตาและแก้ไขให้จอประสาทตาแนบติดกับผนังลูกตาเช่นเดิม การผ่าตัดทำได้หลายวิธีตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่
                   - การใช้ก๊าซฉีดเข้าไปในตา (Pneumatic retinopexy) โดยฉีดตรงบริเวณน้ำวุ้นลูกตาเพื่อดันส่วนที่หลุดลอกให้กลับไปติดอยู่ในตำแหน่งเดิม


       - การผ่าตัดหนุนจอประสาทตา (Scleral buckling) เป็นการผ่าตัดเพื่อหนุนตาขาวให้เข้าไปติดจอประสาทตาที่หลุดลอก โดยใช้ยางหรือวัสดุในการหนุน 
                   - การผ่าตัดน้ำวุ้นลูกตา (Pars plana vitrectomy) ในผู้ป่วยรายที่มีอาการดึงรั้งของน้ำวุ้นลูกตา แพทย์จะรักษาโดยการผ่าตัดน้ำวุ้นลูกตาที่ดึงรั้งจอประสาทตาให้ฉีกขาดออก

                      อย่างไรก็ดี ในการผ่าตัดดังกล่าวข้างต้นต้องทำการรักษาร่วมกับการอุดรอยฉีกขาดของจอประสาทตา เพื่อปิดรอยฉีกขาดนั้นโดยใช้แสงเลเซอร์ความเย็น (Cryotherapy) หรือจี้ด้วยความร้อน (Diathermy)

                     โดยทั่วไปมักใช้วิธีการฉีดก๊าซดันจอประสาทตาที่ลอกให้กลับไปติดยังที่เดิมภายหลังจากการผ่าตัด หลังการรักษาด้วยการฉีดก๊าซเข้าไปดันจอประสาทตา ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนคว่ำหน้า  2-3 สัปดาห์เป็นอย่างงน้อย ซึ่งก๊าซนั้นจะถูกดูดซึมจนหมดไปจากตา ส่วนผู้ป่วยในรายที่ไม่สามารถนอนคว่ำหน้าได้ แพทย์จะใช้สารซิลิโคนเหลว (Liquid silicone) ฉีดเข้าไปแทน ซึ่งภายหลังจากที่จอประสาทตาติดดีแล้วแพทย์จะผ่าตัดนำเอาสารซิลิโคนออก ส่วนความสามารถในการมองเห็นหลังการรักษาจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีภาวะโรคจอประสาทตาลอกเป็นเวลานานเท่าใด หากมีอาการจอประสาทตาลอกเป็นเวลานานแล้วจึงมารักษา ระดับการมองเห็นอาจไม่ดีนัก ดังนั้นผู้ที่มีอาการผิดปกติทางการมองเห็นจึงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็ว

          คำแนะนำหลังการผ่าตัดจอประสาทตา
           - ควรใส่ที่ครอบตาตามเวลาที่แพทย์สั่ง หรือเป็นเวลา 1 เดือน หรืออาจใช้แว่นกันแดดในเวลากลางวัน
           - เมื่อเกิดระคายเคืองตาข้างที่ผ่าตัด ห้ามขยี้ตา หรือใช้มือหรือวัสดุสอดเข้าไปในตา เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
           - ควรใช้ยาหยอดตาหรือยาป้ายตาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น
           - อาจมีอาการเยื่อบุตาขาวอักเสบหลังการผ่าตัด 2-3 วัน มีอาการบวมแดงของเปลือกตา ซึ่งการรักษาอาการดังกล่าวสามารถทำได้โดยใช้น้ำอุ่นประคบหรือนอนให้ศีรษะสูงเพื่อลดอาการบวมแดง
           - ในกรณีที่ผู้ป่วยจะอาบน้ำ ให้ตักน้ำราดตั้งแต่หัวไหล่ลงมา โดยระมัดระวังไม่ใช้น้ำกระเซ็นเข้าตา ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ฝักบัวขณะที่ฝักบัวติดอยู่ที่ฝาผนัง ถ้าต้องการใช้ฝักบัวควรใช้มือจับเท่านั้น
           - ในการสระผมควรให้ผู้อื่นสระให้ โดยนอนหงาย หลับตา ระวังอย่าให้น้ำกระเซ็นเข้าตา ปฏิบัติเช่นนี้อย่างน้อย 1 เดือนหรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้ตาที่ผ่าตัดนั้นถูกน้ำได้
           - ในการทำความสะอาดบริเวณใบหน้า ควรใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำหมาดๆ เช็ดเบา ๆ เฉพาะตาข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด ส่วนข้างที่ผ่าตัดนั้นให้ทำความสะอาดวันละครั้งในตอนเช้าหลังตื่นนอน โดยต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง
           - หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารทุกอย่างได้ตามปกติ ยกเว้นผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไต ซึ่งจำเป็นต้องจำกัดอาหารบางชนิด
           - ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดง ปวดตาและมีขี้ตามาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ถ้ามีการใช้ยาป้ายหรือยาหยอดตาควรนำไปให้แพทย์ดูด้วยทุกครั้ง
           - ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหมหลังการผ่าตัดใน 2 เดือนแรก เนื่องจากอาจทำให้ตาได้รับการกระทบกระเทือน ดังนั้นจึงควรระวังในยกของหนักหรือทำงานหนักใน 2 เดือนแรก


               การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะจอประสาทตาลอก ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
                  - ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์หากมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคจอประสาทตาลอก เนื่องจากหากพบความผิดปกติในระยะเริ่มต้นจะได้ทำการรักษาได้ทัน
                  - หากมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนการเกิดโรคจอประสาทตาลอก ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที ซึ่งอาจจะช่วยป้องกันไม่ให้ตาบอดได้ อาการดังกล่าว เช่น เห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูปเมื่ออยู่ในที่มืดหรือในขณะหลับตา ในบางกรณีอาจเห็นเป็นจุดสีดำหรือเส้นดำ ๆ คล้ายหยากไย่ ยุง หรือแมลงวัน ลอยไป-มาอยู่ในลูกตา ขั้นตอนในการรักษานั้นไม่ยุ่งยาก การใช้แสงเลเซอร์จะไม่เสียเลือด ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด และผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้โดยไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล หากไม่ได้รับการรักษาในระยะเริ่มแรกแล้วเกิดอาการจอประสาทตาลอกไปแล้ว เมื่อมารับการรักษาอาจได้ผลที่ไม่แน่นนอนขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการเกิดโรคดังกล่าว









เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  จอตาลอก (Retina detachment)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 956-958.
2.Siamhealth.  “จอประสาทตาลอก Retina detachment”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [19 ธ.ค. 2016].
3.หาหมอดอทคอม.  โรคจอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดี (Rhegmatogenous retinal detachment หรือ RRD)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [19 ธ.ค. 2016].
4.ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  รูฉีกขาดที่จอตาและจอตาลอก ? (Retinal Tear and Detachment)”.  (อ.พญ.โสมนัส ถุงสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [20 ธ.ค. 2016].
5.โรงพยาบาลลำปาง.  จอประสาทตาลอก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.lph.go.th.  [20 ธ.ค. 2016].




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น